-
นายกฯ มุ่งบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้ชาวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
นายกฯ มุ่งบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้ชาวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
รุดติดตามการขุดลอกแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ระยะเร่งด่วน ให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปี 68
นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรองนายกฯ ประเสริฐ ลงพื้นที่ติดตามแผนการขุดลอกแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ณ จังหวัดเชียงราย แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐานในระยะเร่งด่วน เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ให้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปี 68 มุ่งบรรเทาอุทกภัย ลดผลกระทบทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวอำเภอแม่สายให้ได้มากที่สุดวันนี้ (1 ธ.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามแผนการขุดลอกแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ณ ริมแม่น้ำสาย ตลาดสายลมจอย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาอุทกภัยในจังหวัดเชียงราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ในวันนี้นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) จึงได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขุดลอกแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญของจังหวัดเชียงรายและเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศไทย – เมียนมา เนื่องจากความตื้นเขินของแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันในช่วงที่ฝนตกหนัก จึงถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดอุทกภัย ซึ่งในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีสถานการณ์ฝนตกหนักมากในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย – รวก ส่งผลให้เกิดน้ำหลากในแม่น้ำสาย มีน้ำหลากและโคลนไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญบริเวณด่านการค้าชายแดนแม่สาย เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะทำงานเร่งรัดจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย จึงได้มีแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ระยะเร่งด่วน 1 ปี ระยะกลาง 1 – 3 ปี และระยะยาว 3 – 5 ปี สำหรับแผนในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในแม่น้ำ ประกอบด้วย ขุดลอกแม่น้ำ รื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำ และสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร รวมระยะทางแม่น้ำสาย 14.15 กิโลเมตร และแม่น้ำรวก 31.19 กิโลเมตร มีกองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยกำหนดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จทันฤดูฝนปี 2568“แม่น้ำสายและแม่น้ำรวกเป็นแม่น้ำที่มีความคดเคี้ยว ส่งผลต่อการเอ่อล้นข้ามระดับตลิ่ง รวมทั้งเป็นลำน้ำระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยการเจรจาร่วมกันในคณะกรรมการร่วมไทย – เมียนมา เกี่ยวกับเขตแดนคงที่ช่วงแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก (JCR) โดยปัจจุบัน กองทัพบกได้สำรวจแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกแล้วเสร็จ และจะมีการเสนอแผนงานการขุดลอกและกลไกการขับเคลื่อน ในการประชุม JCR ครั้งที่ 4/2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 19 – 20 ธ.ค. 67 ก่อนเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ โดยจะดำเนินงานให้เสร็จสิ้นตามแผนก่อนเดือน พ.ค. 68 เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปีหน้า ลดผลกระทบต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของชาวอำเภอแม่สายให้ได้มากที่สุด สำหรับแผนระยะกลาง ได้แก่ โครงสร้างป้องกันน้ำท่วมและป้องกันตลิ่งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ และโครงการขุดคลองผันน้ำ ซึ่งมีแผนการดำเนินงานในช่วงปี 2570 – 2572 และแผนระยะยาว ได้แก่ โครงการจัดการพื้นที่รับน้ำชั่วคราว (แก้มลิง) ซึ่งมีแผนการดำเนินงานช่วงปี 2571 – 2573 จะต้องมีการวิเคราะห์ สำรวจ และออกแบบให้มีความชัดเจนก่อนบรรจุลงในแผนต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าวเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยต่อว่า นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการดำเนินงานตามแผนงานตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 68 เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 68 โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1. การบรรเทาอุทกภัย เช่น แก้มลิง แหล่งน้ำธรรมชาติ ป้องกันการกัดเซาะ ระบบระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ 2. การป้องกันดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น ฟื้นฟูป่าไม้ ลดการชะล้าง พังทลายของหน้าดิน ฝายต้นน้ำ ฯลฯ และ 3. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัย (น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม) เช่น งานศึกษา วิจัย นวัตกรรม ระบบ IT ฯลฯ รวมจำนวน 213 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จคาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับการป้องกัน 7,036 ไร่ 4,844 ครัวเรือน ประมาณการมูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยเบื้องต้นลดลง 1,050 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งจะมีการดำเนินงานตามแผนงานระยะเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 1 ปี แผนงานระยะกลาง และแผนงานระยะยาว เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงรายอย่างยั่งยืนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ1 ธันวาคม 2567 -
“รองนายกฯ ประเสริฐ” ห่วงปัญหาอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่
“รองนายกฯ ประเสริฐ” ห่วงปัญหาอุทกภัยจังหวัดเชียงใหม่
สั่งเร่งขุดลอกเพิ่มความจุลำน้ำปิงและปรับปรุงฝายเดิมในลำน้ำ เตรียมรับมือฤดูฝนปีหน้า
“รองนายกฯ ประเสริฐ” ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามเร่งรัดขุดลอกลำน้ำปิงบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่ เพิ่มความจุเตรียมรับปริมาณน้ำให้ทันฤดูฝนปีหน้า พร้อมให้เร่งปรับปรุงฝายที่สร้างไว้เดิมในลำน้ำ จำนวน 3 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันอุทกภัยให้ชาวเชียงใหม่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดวันนี้ (30 พ.ย. 67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ติดตามแนวทางการขุดลอกลำน้ำปิง ณ สะพานนวรัฐ ถนนเจริญเมือง ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ก่อนเดินทางไปติดตามแนวทางการปรับปรุงฝายท่าศาลา (พญาคำ) ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามลำดับรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนปีนี้ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณฝนตกหนักมากบริเวณต้นน้ำของลำน้ำปิง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับการบุกรุกลำน้ำ การเปลี่ยนแปลงของสภาพลำน้ำและสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงการขยายตัวของพื้นที่ชุมชนเมืองโดยไม่คำนึงถึงเส้นทางน้ำ ส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่ประสบอุทกภัยถึง 3 ครั้ง ซึ่งในช่วงที่เกิดเหตุครั้งแรกและครั้งล่าสุด บริเวณสถานี P.1 (สะพานนวรัฐ) มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.60 เมตร อีกทั้งในครั้งล่าสุด ปริมาณน้ำในลำน้ำปิงบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่มีมากถึง 656 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ในขณะที่ลำน้ำปิงสามารถรองรับปริมาณน้ำได้เพียง 400 ลบ.ม. ต่อวินาที จึงทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ในวันนี้จึงได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมาย โดยปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการด้านวิศวกรรมในการสำรวจลำน้ำปิงเรียบร้อยแล้ว และให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเร่งดำเนินการขุดลอกลำน้ำปิงต่อไป ในส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กรมชลประทาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ให้อำนวยความสะดวกในการหาจุดขึ้นดินและสถานที่ทิ้งดิน ซึ่งเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 68 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับฤดูฝนที่จะมาถึงในปีถัดไปนอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการสำรวจทางด้านวิศวกรรม เพื่อปรับปรุงฝายเดิมที่เป็นฝายหินทิ้งในลำน้ำปิง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ฝายท่าศาลา (ฝายพญาคำ) ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล ให้สามารถระบายน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ และในระยะกลาง ให้ดำเนินการปรับปรุงพนังป้องกันตลิ่งด้านท้ายน้ำฝั่งซ้ายของประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง (ประตูระบายน้ำท่าวังตาล) เพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วมเขตชุมชน โดยให้กรมเจ้าท่าพิจารณาอำนวยความสะดวกในการดำเนินการปรับปรุงฝาย รวมทั้งให้จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกรมชลประทานและกรมเจ้าท่า สร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนโดยรอบบริเวณฝาย เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการบริหารจัดการฝาย โดยได้เน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ในขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้าน เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันลำน้ำปิงประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางน้ำและสภาพการใช้ที่ดิน ทำให้พฤติกรรมการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งในขนาดของพื้นที่น้ำท่วม ระดับความลึกของน้ำท่วม และลำดับการเข้าท่วมก่อน – หลัง แตกต่างจากอดีตที่เคยทำสถิติไว้ จึงต้องดำเนินการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยขุดลอกลำน้ำปิงบริเวณตัวเมืองเป็นลำดับแรก และในระยะหลังจากนี้จะดำเนินการขุดลอกบริเวณตอนบนและตอนล่างของลำน้ำปิงต่อไป ในส่วนของฝายหินทิ้งในลำน้ำปิง 3 แห่ง ที่ได้มีการก่อสร้างตั้งแต่ราว พ.ศ. 1800 – 1839 เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร รวมประมาณ 20,300 ไร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปรับปรุงฝายไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ รวมถึงดำเนินการตามข้อสั่งการที่ได้รับอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้ชาวเชียงใหม่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ30 พฤศจิกายน 2567 -
สทนช. ร่วมประชุมหารือและลงพื้นที่สำรวจเตรียมความพร้อม การจัดทำแผนการขุดลอกและปรับปรุงแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย
วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2567) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย พล.ท.สิรภพ ศุภวานิช เจ้ากรมการทหารช่าง นายศรัณยู มีทองคำ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายชุมลาภ เตชะเสน ผู้ช่วยเลขาธิการ สทนช. นายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้บริหาร สทนช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมแผนที่ทหาร แม่ทัพภาคที่ 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมธนารักษ์ กรมเจ้าท่า กรมอุทกศาสตร์ นายอำเภอเชียงแสน นายอำเภอแม่สาย เป็นต้น ร่วมประชุมหารือและลงพื้นที่สำรวจเตรียมความพร้อมการจัดทำแผนการขุดลอกและปรับปรุงแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเร่งฟื้นฟูแม่น้ำสายที่เสื่อมโทรมจากปัญหาตะกอนดินโคลนทับถมจำนวนมากจากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา
-
สทนช. นำคณะผู้แทนจีนศึกษาดูงานพื้นที่ประสบอุทกภัย จ.เชียงราย
หารือการดำเนินโครงการแม่น้ำสายหมวดหมู่ – แม่น้ำรวก แก้ปัญหาน้ำข้ามพรมแดน
สทนช. นำคณะผู้แทนประเทศจีน ศึกษาดูงานพื้นที่ประสบอุทกภัย ณ จังหวัดเชียงราย หารือการดำเนินโครงการเสริมสร้างการปรับตัวของชุมชนเมืองต่อภาวะอุทกภัยภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ซึ่งอยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ปี 68 มุ่งแก้ปัญหาน้ำข้ามพรมแดน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า แม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ซึ่งเป็นแม่น้ำที่กั้นชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา ในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมชุมชนเมืองโดยรอบทั้ง 2 ฝั่งของประเทศ และบริเวณพื้นที่ทำการเกษตร แต่เมื่อถึงฤดูแล้งจะประสบปัญหาไม่มีน้ำสำหรับเกษตรกรรม โดยที่ผ่านมา สทนช. ได้ดำเนินโครงการวิจัยร่วมเพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน ด้านอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย – น้ำรวก ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ปี 61 แต่โครงการไม่สามารถดำเนินได้ตามแผนเนื่องจากการแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 จึงต้องมีปรับเปลี่ยนงบประมาณและแผนการดำเนินงาน ในปีนี้ สทนช. จึงได้จัดทำข้อเสนอขอรับงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ปี 68 สำหรับดำเนินโครงการเสริมสร้างการปรับตัวของชุมชนเมืองต่อภาวะอุทกภัยภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการแจ้งเตือนอุทกภัยล่วงหน้าและระบบการสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยข้ามพรมแดน รวมถึงเสริมสร้างขีดความสามารถให้ชุมชนสามารถตั้งรับปรับตัวกับสถานการณ์อุทกภัยได้ โดยในระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. 67 สทนช. พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากประเทศจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมศึกษาดูงานพื้นที่ประสบอุทกภัย ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นการหารือเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว“การลงพื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้ติดตามสภาพพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบริเวณอำเภอแม่สาย และอำเภอท่าขี้เหล็ก เมียนมา จากทัศนียภาพมุมสูงบริเวณวัดพระธาตุดอยเวา รวมถึงบริเวณสถานีสูบน้ำดิบจากน้ำแม่สาย สะพานมิตรภาพแม่น้ำสาย แห่งที่ 1 และตลาดสายลมจอย อำเภอแม่สาย นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาดูงานที่สบรวก สามเหลี่ยมทองคำ อำเภอแม่สาย และสถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน ด้วย โดย สทนช. ได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกับผู้แทนจากประเทศจีน ซึ่งแผนการดำเนินงานในระยะเริ่มแรกจะมีการประเมินความต้องการสำหรับระบบเตือนภัย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคโนโลยีและแนวปฏิบัติระหว่างไทย เมียนมา และจีน ในประเด็นการติดตามด้านอุตุ – อุทกวิทยา การแบ่งปันข้อมูล และระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การศึกษาร่วมและการลงพื้นที่สำหรับติดตั้งสถานีตรวจวัดข้อมูลอุตุ – อุทกวิทยา ในบริเวณต้นน้ำสาย – รวก ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดสรรทุนของประเทศจีน เพื่อเป็นงบประมาณในการดำเนินโครงการต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าวเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยต่อว่า สำหรับการมาเยือนประเทศไทยในคราวนี้ สทนช. และคณะผู้แทนจากประเทศจีน รวมถึงผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการหารือระดับภูมิภาค ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมเดอะ คาวาลิ คาซ่า รีสอร์ต จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรายงานผลการดำเนินโครงการและถอดบทเรียนจากโครงการที่ สทนช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ปี 65 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนด้านน้ำในระดับภูมิภาคล้านช้าง – แม่โขง ซึ่งช่วยส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของเยาวชนจาก 6 ประเทศของภูมิภาคในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนของภูมิภาคในอนาคต และโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะด้านน้ำที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบนาข้าวระดับภูมิภาคล้านช้าง – แม่โขง เพื่อเร่งรับมือกับปัญหาภัยแล้งและภาวะขาดแคลนน้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ชาญฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศมาใช้สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ช่วยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมีจังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่นำร่องดำเนินการ โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าว มีสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (SEI) และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERIC) เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการตามแผนงาน มีกำหนดเสร็จสิ้นในเดือน ธ.ค. นี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ16 พฤศจิกายน 2567